วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลกนี้


“สทฺธีธ วิตฺตํ ปุริสสฺส เสฏฺฐํ
ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลกนี้
สทฺธา สาธุ ปติฏฺฐิตา
เมื่อศรัทธาแน่วแน่แล้ว ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ
สทฺธาย ตรติ โอฆํ
บุคคลจะข้ามโอฆะได้ ด้วยศรัทธา”

     ความศรัทธา เป็นทางมาแห่งความดีทั้งหลาย ผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในสิ่งที่ควรบูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีทรัพย์อันประเสริฐ ถ้าหากว่ามีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นผู้ไม่ขัดสน ปรารถนาสิ่งใดจะสำเร็จประโยชน์ทุกเรื่อง จะเป็นผู้ที่เจริญอยู่ในกุศลธรรม และสามารถข้ามพ้นห้วงน้ำคือกิเลสอาสวะทั้งหลาย ไปสู่ฝั่งพระนิพพานได้

“ศรัทธา” มาจากภาษาบาลีคำว่า “สัทธา” หมายถึง ความเชื่อ ความมั่นใจ มาจาก “ธา” ธาตุ หมายถึง ความเชื่อถือ ความเชื่อใจ ความลงใจ ความไว้วางใจ ความเลื่อมใส รวมถึง การมอบความไว้วางใจ ฝากจิตไว้ให้ เป็นเหตุให้เชื่อถือ มอบไว้ให้สืบต่อไป ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ใช้คำว่า “ศรัทธา” คู่ไปกับ ความรัก ความเคารพ ความเลื่อมใส
“ศรัทธา” เป็นหนึ่งในองค์ธรรมของโพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมะที่จะทำให้บรรลุธรรมได้ อยู่ในข้อของ อินทรีย์คือศรัทธา พละคือศรัทธา ฉันทะคือความพอใจ ในจิตตะของอิทธิบาทสี่ ก็มีศรัทธาอยู่ในนี้ด้วย ความพอใจ ความเชื่อใจในลักษณะที่ระลึกถึงเสมอ อยู่ในพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ นั่นเป็นเพราะว่า มีศรัทธาในพุทโธ ธัมโม สังโฆ
“ศรัทธา” ถ้ามีน้อยจะทำให้เกิดผลในธรรมวินัยนี้ น้อย และถ้ามีศรัทธากับบางคน บางที บางเวลา บางโอกาส เช่น กับครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ สถานที่นั้นสถานที่นี้ จะทำให้ผลของการปฏิบัติได้ไม่ดี มีไม่ตลอด จึงควรที่จะรักษาศรัทธาให้เต็มตลอดเวลา ซึ่งจะดูได้จากศีลและมรรคของเรา ดังนั้น ควรจะทำให้มีดีได้ตลอดเวลาทั้งทางกาย วาจาและใจ ให้ “ศรัทธา” มันมีเสมอๆ กันกับอินทรีย์ในข้อต่างๆ
“ศรัทธาด้วยปัญญา” เห็นตามความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าบอกไว้สอนไว้ ทำจริงแน่วแน่จริง หมอกหรือ “อวิชชา” จะค่อยๆ จางลงๆ เราจะค่อยๆ เริ่มเห็นความเป็นจริงต่างๆ ว่า “ในโลกนี้ไม่ได้มีสาระอะไร ล้วนเป็นของในความฝัน ล้วนเป็นของที่ไม่มีเจ้าของ เป็นของที่จะต้องคืนโลกเขาไป”

ศรัทธา ๔ คือ
๑. กรรมศรัทธา เชื่อในเรื่องกรรม
๒. วิบากศรัทธา เชื่อในเรื่องผลของกรรม
๓. กัมมัสสกตาศรัทธา เชื่อในเรื่องความมีกรรมเป็นของ ๆ ตน
๔. ตถาคตโพธิศรัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า
      ข้อสุดท้ายมีความคล้ายคลึงกับศาสนาเทวนิยม คือเชื่อพระเจ้า แต่ที่พระองค์ตรัสเช่นนี้มิได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้กล่าว แต่เพื่อประโยชน์สุขของผู้สดับ
      ให้ผู้ฟังมีความเชื่อ ยอมรับสมาทานก่อน ถ้าไม่เชื่อเลยจะไม่ยอมรับสมาทาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมั่นในการตรัสรู้ของพระองค์ก่อนเข้าสู่การปฏิบัติ แต่มิให้ปักใจเชื่อทันที ยังเปิดโอกาสให้ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ (โยนิโสมนสิการ) มีปัญญาไต่สวนตรวจสอบ
     ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาจึงชื่อว่า ญาณสัมปยุตคือความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีศรัทธาเดียว ๆ โดด ๆ แต่มีปัญญามาประกอบการพิจารณาอยู่ด้วย ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาจึงเอื้อให้เกิดการพัฒนาปัญญาเพื่อไต่เต้าเข้าไปสู่ความรู้แจ้งทว่าในเบื้องต้นจะต้องมีศรัทธาเป็นแกนนำก่อน มาด้วยความสงสัย อาจจะกลับไปด้วยความฟุ้งซ่าน มาด้วยศรัทธาจะกลับไปด้วยปัญญา เพราะไม่มาเชื่ออย่างเดียว แต่มาประพฤติปฏิบัติด้วย
      สาธุชนที่มาประพฤติปฏิบัติมีศรัทธา น้อมใจเชื่อก่อน จึงค่อยนำหลักการและวิธีการปฏิบัติไปฝึกปฏิบัติดูว่าจะเป็นอย่างไร ฝึกทำไม เพื่อประโยชน์อันใด ก็ฝึกปฏิบัติเพื่อพักผ่อน ระงับความทุกข์ ให้เกิดความสงบสุข เพราะชีวิตนี้มีแต่การดิ้นรนจึงทุกข์ร้อน

     การเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ตามพระพุทธประสงค์นั้น นอกจากจะเป็นผู้มีความศรัทธามั่นในพระรัตนตรัย จนได้เข้าถึงพระรัตนตรัยแล้ว ยังจะต้องเป็นผู้มีศีล มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพราะศีลเป็นอาภรณ์อันประเสริฐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วสารทิศ ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัยที่แท้จริงจะต้องมีจิตใจหนักแน่นมั่นคงในการสร้างความดี ไม่เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เมื่อมีเรื่องราวเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทั้งดีหรือไม่ดีก็ตาม ต้องทำใจให้เป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่ยินดียินร้าย หรือหวั่นไหวไปตามกระแสโลก ถ้าเราไม่หวั่นไหวตามกระแสโลก
โลกนี้ก็จะเป็นไปตามใจของเรา

เอวังก็มีด้วย ประการ ฉะนี้ แล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น