วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561

"วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

วันที่ ๒๘ ธันวาคม "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน"
#มหาราชผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยจากพม่า
ไม่ต้องเสี่ยงตาย ไม่ต้องเอาชีวิตเข้าแลกแผ่นดิน
เหมือนที่พระองค์ทรงกระทำ แค่เป็นคนไทยที่ดี
รู้หน้าที่ของตัวเอง ไม่เนรคุณแผ่นดินของพระองค์ก็พอ.
........................................................
อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตาก
ทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา
ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา
แด่พระศาสดาสมณะพระพุทธโคดม
.
ให้ยืนยงคงถ้วนห้าพันปี
สมณะพราหมณ์ชีปฏิบัติให้พอสม
เจริญสมถะวิปัสนาพ่อชื่นชม
ถวายบังคมรอยพระบาทพระศาสดา
.
คิดถึงพ่อพ่ออยู่คู่กับเจ้า
ชาติของเราคงอยู่คู่พระศาสนา
พุทธศาสนาอยู่ยงคู่องค์กษัตรา
พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน
...........................................
#สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๒๘ ธันวาคม เป็นวันที่ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินผู้ทรง เป็นมหาวีรกษัตริย์ไทย ทรงเป็นนักรบที่กล้าหาญ ทรงพระปรีชาสามารถ ปราบยุคเข็ญ กอบกู้ชาติไทยให้พ้นภัยจากการรุกรานของพม่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา การศึกสงครามครั้งนั้นมีวีรชนที่พลีชีพเพื่อชาติจนเป็นที่กล่าวขวัญถึงความ เสียสละ ความกล้าหาญ มาจนทุกวันนี้
...
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่า สิน เป็นบุตรของนายไหฮองกับนางนกเอี้ยง พระราชสมภพวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๒ รับราชการอยู่ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้รับความดีความชอบจึงได้เลื่อนยศขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองตาก เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยอาณาจักรธนบุรี ทรงปราบดาภิเษกเป็น "พระมหากษัตริย์" แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๐ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๑๕ ปี
.
#พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

๑. การกู้เอกราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๙
พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ และได้เสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นเกิดความระส่ำระสาย ทหารพม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ พระยาตากเห็นว่าคงสู้พม่าไม่ได้แล้ว จึงนำทหารจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมา และได้รวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรี แล้วยกทัพกลับไปตีพม่าที่กรุงศรีอยุธยา ทัพของพระยาตากสามารถตีพม่าจนแตกพ่ายไป พระยาตากสามารถรวบรวมผู้คนกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาจากพม่าได้ภายในเวลา ๗ เดือน
.
๒. การสร้างและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง
หลังจากได้กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนจากพม่าได้แล้ว พระองค์ทรงเห็นว่าทางกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาผลาญเสียหายมากและยากที่จะฟื้นฟูให้เจริญเหมือนเดิมได้ พระองค์จึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบรี แล้วทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 4 ครองกรุงธนบุรีอยู่ ๑๕ ปี นับว่าเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่ปกครองกรุงธนบุรี
.
๓. พระองค์ได้ขยายอาณาเขตโดยตีเวียงจันทน์ได้และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่เมืองหลวง ทรงทำนุบำรุงศาสนาและทรงส่งเสริมให้คนแต่งหนังสือต่าง ๆ ขึ้น เพราะหนังสือตำราอันมีค่าถูกพม่าเผาไปเกือบหมด ทรงเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรเป็นอย่างดีแม้ว่าจะต้องทำสงครามกับพม่าตลอดเวลาก็ตาม
...
#ด้วยเหตุดังกล่าวชาวไทยจึงขนานนามพระองค์ว่า_สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อเป็นการรำลึงถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์ที่มีต่อแผ่นดินไทย
https://www.youtube.com/watch?v=rhcrvlMvjMA

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลกนี้


“สทฺธีธ วิตฺตํ ปุริสสฺส เสฏฺฐํ
ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลกนี้
สทฺธา สาธุ ปติฏฺฐิตา
เมื่อศรัทธาแน่วแน่แล้ว ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ
สทฺธาย ตรติ โอฆํ
บุคคลจะข้ามโอฆะได้ ด้วยศรัทธา”

     ความศรัทธา เป็นทางมาแห่งความดีทั้งหลาย ผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในสิ่งที่ควรบูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีทรัพย์อันประเสริฐ ถ้าหากว่ามีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นผู้ไม่ขัดสน ปรารถนาสิ่งใดจะสำเร็จประโยชน์ทุกเรื่อง จะเป็นผู้ที่เจริญอยู่ในกุศลธรรม และสามารถข้ามพ้นห้วงน้ำคือกิเลสอาสวะทั้งหลาย ไปสู่ฝั่งพระนิพพานได้

“ศรัทธา” มาจากภาษาบาลีคำว่า “สัทธา” หมายถึง ความเชื่อ ความมั่นใจ มาจาก “ธา” ธาตุ หมายถึง ความเชื่อถือ ความเชื่อใจ ความลงใจ ความไว้วางใจ ความเลื่อมใส รวมถึง การมอบความไว้วางใจ ฝากจิตไว้ให้ เป็นเหตุให้เชื่อถือ มอบไว้ให้สืบต่อไป ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ใช้คำว่า “ศรัทธา” คู่ไปกับ ความรัก ความเคารพ ความเลื่อมใส
“ศรัทธา” เป็นหนึ่งในองค์ธรรมของโพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมะที่จะทำให้บรรลุธรรมได้ อยู่ในข้อของ อินทรีย์คือศรัทธา พละคือศรัทธา ฉันทะคือความพอใจ ในจิตตะของอิทธิบาทสี่ ก็มีศรัทธาอยู่ในนี้ด้วย ความพอใจ ความเชื่อใจในลักษณะที่ระลึกถึงเสมอ อยู่ในพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ นั่นเป็นเพราะว่า มีศรัทธาในพุทโธ ธัมโม สังโฆ
“ศรัทธา” ถ้ามีน้อยจะทำให้เกิดผลในธรรมวินัยนี้ น้อย และถ้ามีศรัทธากับบางคน บางที บางเวลา บางโอกาส เช่น กับครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ สถานที่นั้นสถานที่นี้ จะทำให้ผลของการปฏิบัติได้ไม่ดี มีไม่ตลอด จึงควรที่จะรักษาศรัทธาให้เต็มตลอดเวลา ซึ่งจะดูได้จากศีลและมรรคของเรา ดังนั้น ควรจะทำให้มีดีได้ตลอดเวลาทั้งทางกาย วาจาและใจ ให้ “ศรัทธา” มันมีเสมอๆ กันกับอินทรีย์ในข้อต่างๆ
“ศรัทธาด้วยปัญญา” เห็นตามความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าบอกไว้สอนไว้ ทำจริงแน่วแน่จริง หมอกหรือ “อวิชชา” จะค่อยๆ จางลงๆ เราจะค่อยๆ เริ่มเห็นความเป็นจริงต่างๆ ว่า “ในโลกนี้ไม่ได้มีสาระอะไร ล้วนเป็นของในความฝัน ล้วนเป็นของที่ไม่มีเจ้าของ เป็นของที่จะต้องคืนโลกเขาไป”

ศรัทธา ๔ คือ
๑. กรรมศรัทธา เชื่อในเรื่องกรรม
๒. วิบากศรัทธา เชื่อในเรื่องผลของกรรม
๓. กัมมัสสกตาศรัทธา เชื่อในเรื่องความมีกรรมเป็นของ ๆ ตน
๔. ตถาคตโพธิศรัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า
      ข้อสุดท้ายมีความคล้ายคลึงกับศาสนาเทวนิยม คือเชื่อพระเจ้า แต่ที่พระองค์ตรัสเช่นนี้มิได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้กล่าว แต่เพื่อประโยชน์สุขของผู้สดับ
      ให้ผู้ฟังมีความเชื่อ ยอมรับสมาทานก่อน ถ้าไม่เชื่อเลยจะไม่ยอมรับสมาทาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมั่นในการตรัสรู้ของพระองค์ก่อนเข้าสู่การปฏิบัติ แต่มิให้ปักใจเชื่อทันที ยังเปิดโอกาสให้ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ (โยนิโสมนสิการ) มีปัญญาไต่สวนตรวจสอบ
     ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาจึงชื่อว่า ญาณสัมปยุตคือความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีศรัทธาเดียว ๆ โดด ๆ แต่มีปัญญามาประกอบการพิจารณาอยู่ด้วย ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาจึงเอื้อให้เกิดการพัฒนาปัญญาเพื่อไต่เต้าเข้าไปสู่ความรู้แจ้งทว่าในเบื้องต้นจะต้องมีศรัทธาเป็นแกนนำก่อน มาด้วยความสงสัย อาจจะกลับไปด้วยความฟุ้งซ่าน มาด้วยศรัทธาจะกลับไปด้วยปัญญา เพราะไม่มาเชื่ออย่างเดียว แต่มาประพฤติปฏิบัติด้วย
      สาธุชนที่มาประพฤติปฏิบัติมีศรัทธา น้อมใจเชื่อก่อน จึงค่อยนำหลักการและวิธีการปฏิบัติไปฝึกปฏิบัติดูว่าจะเป็นอย่างไร ฝึกทำไม เพื่อประโยชน์อันใด ก็ฝึกปฏิบัติเพื่อพักผ่อน ระงับความทุกข์ ให้เกิดความสงบสุข เพราะชีวิตนี้มีแต่การดิ้นรนจึงทุกข์ร้อน

     การเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ตามพระพุทธประสงค์นั้น นอกจากจะเป็นผู้มีความศรัทธามั่นในพระรัตนตรัย จนได้เข้าถึงพระรัตนตรัยแล้ว ยังจะต้องเป็นผู้มีศีล มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพราะศีลเป็นอาภรณ์อันประเสริฐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วสารทิศ ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัยที่แท้จริงจะต้องมีจิตใจหนักแน่นมั่นคงในการสร้างความดี ไม่เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เมื่อมีเรื่องราวเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทั้งดีหรือไม่ดีก็ตาม ต้องทำใจให้เป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่ยินดียินร้าย หรือหวั่นไหวไปตามกระแสโลก ถ้าเราไม่หวั่นไหวตามกระแสโลก
โลกนี้ก็จะเป็นไปตามใจของเรา

เอวังก็มีด้วย ประการ ฉะนี้ แล

10 หลักธรรมของพระพุทธเจ้า

ที่ชาวพุทธสมควรศึกษา
(อ่านเพื่อไปค้นคว้าต่อด้วยตนเอง)

1. อิทธิบาทสี่
ศึกษาเพื่อบ่มเพาะคุณธรรมแห่งความสำเร็จ ไม่สับสนระหว่างฉันทะกับตัณหา คือความรักที่จะลงมือทำและความอยากมี อยากได้ อยากเป็น ผู้เข้าใจอิทธิบาทสี่จะประเมิณตนเองได้ว่า สิ่งที่ตนกำลังทำอยู่จะพบกับความสำเร็จได้หรือไม่ เป็นหลักธรรมที่หาค้นคว้าได้ทั่วไป

2. ศีลห้า
ศีลห้านี้เป็นหลักธรรมที่เราได้ยินกันบ่อยที่สุด แต่ความจริงแล้ว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีแง่มุมที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะศีลในข้อวาจา งดเว้นการพูดเท็จ ซึ่งในสังคมปัจจุบันทำผิดกันมาก จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ในพระสูตรหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ผู้ใดก็ตามที่โกหกจนเป็นนิสัย หรือบิดเบือนความจริงจนเป็นนิสัย ทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่กระพริบตา บุคคลผู้นั้นย่อมมีอันตรายเพราะมีโอกาสสูงที่จะต้องตกอบายภูมิ ดังนั้น ศีลห้าจึงเป็นคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้ชีวิตของตน และสังคมสงบได้ คุณธรรมนี้สามารถศึกษาค้นคว้าได้ทั่วไป

3. อริยสัจสี่
อริยสัจสี่นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นความจริงของชีวิต เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบและทำให้พระองค์หลุดพ้น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คืออะไร ชาวพุทธทั้งหลาย ไม่ควรสงสัย คลุมเครือ หรือไม่แน่ใจ แต่ควรจะมีความเข้าใจ แตกฉาน สามารถตอบคำถามและแนะนำได้ หากมีผู้สงสัย แม้ไม่รู้จักสิ่งนี้ คุณกำลังไม่รู้จักพระพุทธเจ้าของตนเอง หลักธรรมข้อนี้ สามารถศึกษาค้นคว้าได้ทั่วไป

4. ขันธ์ห้า
หลักธรรมที่ว่าด้วยเรื่องขันธ์ห้านี้ อาจดูไกลตัวสำหรับคนทั่วไป แต่ที่จริงแล้ว ขันธ์ห้าคือสิ่งที่ทุกคนต้องศึกษาเล่าเรียน เพราะขันธ์ห้านี้เอง ที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เราสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวกูของกู พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า มนุษย์ทั้งหลายไม่เคยตื่นขึ้นเลย มนุษย์ล้วนใช้ชีวิตอยู่ในการหลับไหล ก็เพราะไม่รู้เรื่องขันธ์ห้า ตราบที่ยังไม่เคยศึกษาเรื่องขันธ์ห้า อย่าพูดเด็ดขาดว่าท่านรู้จักชีวิตของท่านดีแล้ว

5. ระบบกรรม
กรรมนิยาม เป็นหนึ่งในกฏธรรมชาติห้าอย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกมาสั่งสอนชาวโลก ระบบกรรมเป็นระบบที่ยุติธรรมเสมอ ไร้ช่องโหว่ ถ้าเราศึกษาจนเข้าใจ เราจะสามารถตอบคำถามของชีวิตได้อีกหลายอย่าง ระบบกรรมนี้ ไม่ได้ระบุไว้เพียง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หากแต่ยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อนมากมาย ซึ่งถ้าไม่ศึกษา ก็ไม่มีวันเข้าใจได้จากการคิด วิเคราห์ด้วยตนเอง เพราะต้องใช้ปัญญาระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้น จึงสามารถแยกย่อย ตีแผ่ออกมาได้ แนะนำให้ศึกษาโครงสร้างของกรรม เพราะจะสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องไปถามใครต่อใครอีกว่า ทำไมเราเกิดมาเป็นแบบนี้ ทำไมต้องพบกันคนนี้ ทำไมมีแต่เรื่องแบบนี้ และจะแก้ไขชีวิตได้อย่างไรให้ดีขึ้น ครุกรรมคืออะไร อาสันนกรรมคืออะไร อาจิณกรรมคืออะไร กตัตตากรรมคืออะไร เหล่านี้คือสิ่งที่ชาวพุทธคนสนใจศึกษาเล่าเรียน

6. ภพภูมิและการเวียนว่ายตายเกิด
ในเรื่องภพภูมินี้ แม้คนส่วนใหญ่จะพิสูจน์ให้เห็นด้วยตาไม่ได้ แต่หากไม่ศึกษาค้นคว้าไว้เลย ก็จะเป็นเหตุให้มองโลกผิดไปจากความเป็นจริงอยู่มาก เพราะความรู้ภพภูมินี้ จะทำให้เราเข้าใจว่า เราเองไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหน ไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่คนที่เก่งกาจที่สุด ตรงกันข้าม เรานี่แหละที่เคยเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานมาแล้วนับไม่ถ้วน เป็นเทวดาก็เป็นมาแล้ว สูงที่สุดก็เคยเป็นมาแล้ว ต่ำที่สุดก็เคยเป็นมาแล้ว ทุกคนเป็นเพียงสัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิด ไม่มีใครดีไปกว่าใคร ความเข้าใจเรื่องภพภูมินี้ จะทำให้เราสำนึกตนเองว่า เราไม่สมควรประมาทต่อชีวิต อีกทั้งควรมองผู้อื่นดุจกัลยาณมิตร หรือคนในครอบครัว ไม่แบ่งเขา แบ่งเรา ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ กระทำตนต่อผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ ความรู้เรื่องภพภูมินี้ สามารถศึกษาได้จากหนังสือเล่มต่างๆ (ร้านบริเวณท่าพระจันทร์จะมีหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาขายอยู่เป็นจำนวนมาก ลองไปหาซื้อมาอ่านได้ตามอัธยาศัย)

7. จิตสุดท้าย
หลักธรรมในข้อนี้ ถ้าพูดกันตามตรงอาจเป็นหัวข้อแรกๆ ที่เราควรทำความเข้าใจ เพราะความตายนั้นเป็นสิ่งใกล้ตัวมากกว่าที่คิด วันพรุ่งนี้กับชาติหน้า เราไม่สามารถรู้เลยว่าอะไรจะมาก่อนมาหลัง ในการเวียนว่ายตายเกิดนั้น มีคำว่า "จิตดวงเดียวท่องเที่ยวไป" คุณคนเดียวเท่านั้นที่เกิด คุณคนเดียวเท่านั้นที่ตาย คุณคนเดียวเท่านั้นที่สามารถช่วยเหลือตนเองในนาทีสุดท้ายของชีวิต ความรู้เรื่องจิตสุดท้ายนี้จะทำให้เราเข้าใจว่า เราควรวางจิตก่อนตายอย่างไรเพื่อไม่ต้องเสวยภูมิอยู่ในนรก นรกไม่ได้มีสำหรับคนชั่วเท่านั้น แต่ยังมีไว้สำหรับคนดีที่มีความประมาทด้วย เมื่อศึกษาความรู้เรื่องจิตสุดท้ายแล้ว ขอให้ลองสังเกตอารมณ์ระหว่างวันของตนเองให้ดี การสังเกตอารมณ์ของตนเอง เป็นเหมือนการทำนาย ประเมิณผลแบบคร่าวๆ ว่าเมื่อสิ้นภพชาตินี้แล้วเราจะไปเกิดเป็นอะไรต่อ สิ่งนี้ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องไปพึ่งหมอดูที่ไหน รู้ได้เป็นปัจจตังเฉพาะตน ทำอย่างไร ได้อย่างนั้น ฝึกจิตมาอย่างไร เตรียมรับผลแห่งการกระทำไว้ได้เลย

8. สติปัฏฐาน 4
คงเป็นเรื่องตลกไม่น้อย ถ้าเราบอกว่า เราเป็นชาวพุทธแต่เราไม่รู้จักความหมายของคำๆ นี้เลย สติปัฏฐาน 4 คือหัวใจแห่งการปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ผู้หนึ่งสามารถเอาชนะความทุกข์ได้ ทุกวันนี้เราเล่าเรียนเรื่องความสุขกันมากมาย จากคนที่ยังมีความทุกข์อยู่ ศึกษาจากผู้อื่นแล้วยังไม่หายทุกข์ ก็มาศึกษาจากพระพุทธเจ้าของเราบ้าง สติปัฏฐาน 4 คืออะไร กาย เวทนา จิต ธรรม คืออะไร ทำไมสติปัฏฐาน 4 จึงทำให้มนุษย์ธรรมดาๆ ดับทุกข์ได้อย่างถาวร แล้วเราจะเริ่มต้นปฏิบัติในคุณธรรมข้อนี้ได้อย่างไร ต้องบอกว่า สติปัฏฐาน 4 นี้คือมรดกของพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง เป็นสิ่งที่ทำให้ศาสนาพุทธมีความแตกต่างจากศาสนาอื่น หลักธรรมในข้อนี้ ควรหาเวลาปลีกตัวเพื่อศึกษา เบื้องต้นอาจหาตำรามาอ่าน ขั้นต่อไป อาจลองไปศึกษาจากสำนักวิปัสสนาต่างๆ และสุดท้ายควรนำหลักปฏิบัตินี้ มากระทำลงในชีวิตประจำวันด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้ เราก็จะเป็นผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่า ไม่เสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์

9. อานาปานสติ
อานาปานสตินี้ เป็นเอก เป็นทางที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญยิ่ง ชาวพุทธทุกคนควรสนใจศึกษา เพราะปฏิบัติง่าย เราจะได้ไม่ต้องมานั่งพร่ำบ่นว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ หายใจที่ไหน ก็ปฏิบัติที่นั้น หยุดหายใจเมื่อไหร่ ก็คือวันที่เสร็จสิ้นการปฏิบัติ อานาปานสตินี้ ผู้ภาวนาบ่อยๆ ความโลภ โกรธ หลง จะน้อยลง พูดง่ายๆ ว่าจะเป็นคนดีขึ้น จากเป็นคนดีธรรมดาๆ ก็เป็นคนดีที่มีปัญญา เรียกว่ากัลยณชน จากเป็นกัลยาณชน ก็กลายเป็นอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ จริงอยู่ตอนนี้เราเป็นเพียงปุถุชนคนธรรมดา แต่มนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์โลกที่สามารถพัฒนาจิตใจได้ อย่ายอมจำนนกับคำว่าปุถุชนเพียงเพราะว่ามันง่าย แต่จงฝืนจิต ฝึกตน ให้มีคุณธรรมที่สูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป ทำได้อย่างนี้ จึงเป็นการลดทอนภพชาติ ไม่ต้องทุกข์ทรมานตลอดกาลยาวนาน คุณธรรมเรื่องอานาปานสตินี้ ศึกษาได้จากหนังสือหลายเล่ม ของท่านพุทธทาสก็มี หรือจะหาอ่านโดยตรงจากพระไตรปิฏก หรือครูบาอาจารย์ต่างๆ ก็สุดแล้วแต่ สำคัญที่สุดคือเมื่อศึกษาเล่าเรียนจากตำรา และสำนักแล้ว ก็ต้องนำมาปฏิบัติลงในชีวิตประจำวันด้วย

10. มรรคมีองค์แปด
มรรคมีองค์แปดนี้ เป็นทางสายเอก แปลภาษาชาวบ้านว่า เป็นคู่มือการใช้ชีวิตของผู้ที่ต้องการความเจริญ ใครที่ต้องการความเจริญก็สมควรศึกษา มรรคแปดนี้ มีอยู่ในศาสนาพุทธเท่านั้น ไม่มีอยู่ในศาสนาอื่น ปฏิบัติตามได้น้อย ชีวิตก็เจริญได้น้อย ปฏิบัติตามได้มาก ชีวิตก็เจริญได้มาก ปฏิบัติตามไม่ได้เลย ชีวิตก็ย่อมพบกับความหายนะอย่างไม่ต้องสงสัย คุณธรรมมรรคแปดนี้ เป็นการบริหารจัดการชีวิตแบบองค์รวมทั้งชาตินี้และชาติหน้า และเป็นไปเพื่อพระนิพพานโดยที่สุด เป็นการมองการใช้ชีวิตด้วยวิสัยทัศน์ของคนระดับพระพุทธเจ้า ดังนั้น เราควรจดจำ ท่องบ่นจนคล่องปาก และจัดสรรชีวิตของตนให้มีความสอดคล้องกับหลักมรรคแปด อาชีพแบบไหนดี ความคิดแบบไหนควรคิด อะไรคือความเชื่อ อะไรคือความจริง เราควรพูดแบบไหน คบใคร สมาธิคืออะไร สติคืออะไร สามารถเรียนรู้ได้จากหลักธรรมนี้ทั้งหมด ขึ้นชื่อว่าชาวพุทธ ไม่รู้หลักธรรมข้อนี้ถือเป็นเรื่องน่าอายเป็นที่สุด

***หลักธรรมทั้ง 10 หมวดนี้ เป็นหลักธรรมพื้นฐานที่ชาวพุทธสมควรศึกษา เพราะเป็นหลักธรรมขั้นพื้นฐาน ที่จะทำให้เราสามารถต่อยอดไปศึกษาในสิ่งที่ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป ขอให้ท่านทั้งหลายวางแผนในการศึกษาในหลักธรรมเหล่านี้ให้ดี สัปดาห์หนึ่ง ท่านอาจตั้งใจว่า "ฉันจะศึกษาเรื่องศีล" อีกสัปดาห์ท่านอาจจะตั้งใจว่า "ฉันจะศึกษาเรื่องภพภูมิ" ท่านอาจทำตารางประจำเดือนของท่าน ว่าเดือนนั้นเดือนนี้ ท่านจะศึกษาธรรมะหัวข้ออะไรบ้าง จะทำให้การศึกษาเป็นไปโดยง่ายและไม่สับสน เมื่อท่านรู้จักและเข้าใจหลักธรรมได้สักสิบหมวด ท่านจึงเริ่มร้อยเรียงหลักธรรมที่เหลือได้เอง ท่านจะเห็นว่า หลักธรรมแต่ละหมวดนั้นเชื่อมโยงกันหมด เมื่อท่านจะเริ่มปะติดปะต่อความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมได้ ท่านจะเห็นความสำคัญของการปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่ต้องมีใครบังคับท่านก็อยากปฏิบัติ เต็มใจปฏิบัติ และสนุกกับการปฏิบัติ เพราะท่านตระหนักด้วยตนเองว่าธรรมะสำคัญแค่ไหน ชีวิตของท่านจะกลายเป็นวิถีชีวิตแห่งการภาวนา ที่มีการรับรู้ดูลมหายใจ เห็นการเกิดดับของสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องปกติ ถึงตอนนั้น กิเลสต่างๆ ของท่านจะเบาบางลงไป ความสุขจะเพิ่มพูนขึ้น ถึงวันหนึ่งท่านอาจแนะนำและบอกเส้นทางนี้แก่ผู้อื่นบ้าง เพราะเราต่างเวียนว่ายตายและเกิด เราต่างเป็นผู้ผ่านร้อนหนาวมาด้วยกันในสังสารวัฏตลอดกาลยาวนาน ถึงวันหนึ่ง ท่านอาจเป็นผู้เข้าถึงธรรม เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
เป็นผู้หมดทุกข์โดยสิ้นเชิง
ทั้งหมดนี้ เป็นไปได้
แต่ท่านต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้
ด้วยตัวของท่านเอง********

Cr.พศิน อินทรวงค์

ปาลิไลยกเทพบุตร

“ด้วยอำนาจพุทธบารมี และพระเมตตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

สมัยหนึ่งที่วัดโฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี "..พระภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ๒ รูป ต่างองค์มีบริวารกันองค์ละ ๕๐๐ รูป ได้เกิดทะเลาะวิวาทกันแบ่งเป็น ๒ พวก องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงมาห้ามปรามให้ภิกษุทั้ง ๒ ฝ่ายสามัคคีกัน ทรงห้ามถึงวาระที่ ๓ พวกเขาก็ไม่ยอมเลิกทะเลาะกัน พระองค์ก็ทรงระอา มีความรังเกียจ ทรงหลีกออกจากหมู่พวกนี้ไปอยู่แต่ผู้เดียว ได้เสด็จไปบิณฑบาตในเมืองโกสัมพีโดยไม่ตรัสบอกภิกษุทั้งหลาย ทรงถือบาตรจีวรของพระองค์เสด็จไปแต่พระองค์เดียว ไปจำพรรษาอยู่ที่โคนต้นไม้สาละใหญ่ในป่าชื่อ "รักขิตวันสัณฑะ" ซึ่งมี ช้าง มีนามว่า "ปาริไลยกะ" เป็นอุปัฏฐาก ช้างตัวนี้ละจากฝูงช้างมาจากป่า เข้ามาปฏิบัติองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือทำทุกอย่าง น้ำใช้ นํ้าฉันก็ดี ช้างก็ใช้งวงจับกระบอกตักเอานํ้ามาถวาย ปรากฏว่าในป่านั้นมีอากาศหนาวมาก นํ้าสรงของพระพุทธเจ้า เวลาช้างจะทำนํ้าร้อนก็เอางวงจับไม้สีกันให้เป็นไฟ เมื่อไฟติดแล้วก็กลิ้งหินเข้าไปในกองไฟ แล้วก็เอาไม้เข้ามาใส่ พอเห็นว่าหินร้อนดีแล้วก็เอางวงจับไม้มางัดหินนั้นไปแช่ไว้ในนํ้า ซึ่งเป็นอ่างน้ำไม่ใหญ่โตนัก หลังจากนั้นก็เอางวงจุ่มนํ้าดู เมื่อนํ้าร้อนแล้วก็เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระองค์จึงตรัสถามว่า "ปาริไลยกะ เจ้าต้มน้ำแล้วหรือ" ช้างก็แสดงให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปที่นั้น ในเวลานั้นพญาช้างก็ได้นำผลไม้ต่างๆ มาถวายแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จเข้าไปบิณฑบาต พญาช้างก็ถือบาตรจีวรไว้บนตระพองตามเสด็จพระพุทธเจ้าไป เมื่อพระองค์เสด็จถึงแดนบ้านแล้วจึงรับสั่งว่า "ปาริไลยกะ ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไปเจ้าไม่อาจจะไปได้ เจ้าจงเอาบาตรจีวรของเรามา"
ช้างก็ส่งบาตรจีวรถวาย แล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ส่วนพญาช้างก็ยืนคอยอยู่ตรงนั้นจนกว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จออกมา ในเวลาที่พระองค์เสด็จมา ช้างก็ทำการต้อนรับถือบาตรจีวรนำไปวางไว้ ณ ที่ประทับก่อน แล้วถวายงานพัดด้วยกิ่งไม้ เป็นอันว่าช้างแสดงอาจริยวัตร ปฏิบัติอยู่ตลอดในเวลากลางวัน

สำหรับในเวลากลางคืนช้างก็นำท่อนไม้มาท่อนหนึ่งเป็นท่อนใหญ่ใช้งวงจับไว้ เที่ยวเดินไปรอบๆ ในราวป่าจนกว่าอรุณจะขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะพึงมีแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอันว่าช้างตัวนี้ตั้งใจไว้ว่า เราจะรักษาพระพุทธเจ้าอย่างนี้ตลอดไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต แสดงถึงน้ำใจของช้างซึ่งมีความจงรักภักดีในพระพุทธเจ้า จริยาอย่างนี้ถือว่าเหมือนกับ เราสมาทานพระกรรมฐานด้วยการใช้คำว่า ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
ช้างปาริไลยกะเชือกนี้เป็นพระโพธิสัตว์ ในกัปนี้จะมีพระพุทธเจ้า ๑๐ องค์ หลังจาก พระศรีอาริยเมตไตรย เป็นองค์ที่ ๕ จัดว่าเป็นชุดที่ ๑ ส่วนชุดที่ ๒ คือ ๑. พระราม ๒. พระเจ้าปเสนทิโกศล ๓. ช้างปาริไลยกะ เป็นต้น

ในขณะที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่ที่โคนต้นไม้สาละใหญ่ในป่า เวลานั้นก็ยังมี วานรอีกตัวหนึ่ง ลิงตัวนี้เห็นช้างนั้นทำการปฏิบัติในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คิดว่าช้างทำได้ เราก็จักทำอย่างนั้นได้ เมื่อช้างถวายผลไม้พระพุทธเจ้าได้ ช้างทำวัตรปฏิบัติพระพุทธเจ้าได้ ช้างไม่มีมือมีแต่งวง เรามีมือสองมือ มีเท้าสองเท้า มือของเราจะใช้เป็นมือก็ได้ จะใช้เป็นเท้าก็ได้ เป็นอันว่าเราได้เปรียบช้างแต่ตัวเราเล็กกว่าช้าง แม้เราจะเล็กเราก็มีความสามารถ ฉะนั้น เมื่อคิดดังนั้นแล้ว ลิงมีความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ จึงเที่ยวไป

วันหนึ่งไปเห็น รวงผึ้งที่กิ่งไม้ หาตัวผึ้งไม่มีแล้ว จึงได้หักกิ่งไม้นั้นมาแล้วก็นำรวงผึ้งนั้นมาพร้อมทั้งกิ่งไม้เข้าไปถวายพระพุทธเจ้า ได้เด็ดใบตองรองถวาย พระพุทธเจ้าทรงรับ ลิงมองดูเห็นพระพุทธเจ้าทรงนิ่งเฉยอยู่ไม่เสวย จึงคิดว่าพระพุทธเจ้าเห็นว่าเราเป็นลิงเล็กมีค่าไม่เท่าช้าง ความจริงน้ำผึ้งก็หวานดี จึงย่องเข้าไปดูใกล้ๆ เอามือจับปลายกิ่งไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงถือ แล้วก็พิจารณาดู ก็เห็นผึ้งตัวอ่อนๆ มีอยู่ ๒-๓ ตัว จึงค่อยๆ นำเอาผึ้งตัวอ่อนนั้นออก แล้วจึงเข้าไปถวายใหม่ ตอนนี้พระพุทธเจ้าทรงรับแล้วก็เสวย

เมื่อพระองค์เสวยน้ำผึ้ง ลิงก็ดีใจ คิดว่าช้างตัวใหญ่ทำการปฏิบัติพระพุทธเจ้าได้ เราเป็นลิงตัวเล็ก เราก็ทำได้ เราไม่แพ้ช้าง ก็ดีใจกระโดดโลดเต้นไปตามเพลงของลิง เวลานั้น กิ่งไม้ที่ลิงโดดไปจับและกิ่งไม้ที่ลิงไปเหยียบมันหักขึ้นมาพร้อมกัน ลิงตัวนั้นก็เลยตกลงมา โดนที่ปลายตอๆ หนึ่ง ตัวลิงถูกปลายตอแทงเข้าไป เพราะอาศัยที่จิตเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตายจากความเป็นลิง ก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีวิมานทองคำสูง ๓๐ โยชน์ มีนางเทพอัปสรหนึ่งพันเป็นบริวาร

ในกาลต่อมาเมื่อออกพรรษาแล้วมีภิกษุมาจากในทิศทั้งหลายรวมกัน ๕๐๐ รูป ได้เข้าไปหาพระอานนท์ อ้อนวอนบอกว่า "จงช่วยอาราธนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าพาข้าพเจ้าทั้งหลายไปเฝ้าเพื่อฟังธรรมกับพระพุทธเจ้าเถิด"

พระอานนท์จึงได้พาพระภิกษุทั้งหลายไป ณ ที่นั้นแล้ว จึงสั่งให้พระ ๕๐๐ รูป พักอยู่ข้างนอกก่อน ท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ผู้เดียวก่อน เวลานั้นช้างปาริไลยกะเห็นพระอานนท์เถระเข้ามา จึงเอางวงถือท่อนไม้แล้วก็วิ่งไปจะทำร้ายพระอานนท์คิดว่าเป็นศัตรู

สมเด็จพระบรมครูทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงได้ตรัสว่า "ปาริไลยกะ หลีกไปเสีย อย่าห้ามเธอเลย ภิกษุองค์นั้นเป็นผู้ปฏิบัติเราคืออุปัฏฐากของเรา"

พญาช้างปาริไลยกะก็ทิ้งท่อนไม้เสียในที่นั้นเอง แสดงความเอื้อเฟื้อจะเข้าไปรับบาตร และจีวร พระเถระก็มิได้ให้ พญาช้างก็คิดว่า ถ้าภิกษุรูปนี้จะมีวัตรอันตนได้เรียนแล้ว ท่านคงจะไม่วางบริขารของตนไว้บนแผ่นหินที่ประทับของพระพุทธเจ้า พระอานนท์เมื่อเข้าไปก็ไม่ยอมวางบาตรบนที่นั้นเพราะท่านมีความเคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "อานนท์ เวลานี้เธอมาคนเดียวหรือ"
พระอานนท์ก็ได้กราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้ามากับพระ ๕๐๐ รูปด้วยกันพระพุทธเจ้าข้า เพราะว่าเธอได้มาจากทิศต่างๆ ปรารถนาจะนมัสการสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงขอร้องให้ข้าพระพุทธเจ้าพามานมัสการ"
พระพุทธเจ้าจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่า "พระพวกนั้นเวลานี้อยู่ที่ไหน"
พระอานนท์จึงได้กราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบว่า เวลานี้พระองค์ต้องการจะให้เธอทั้งหลายเหล่านั้นเข้ามานมัสการหรือไม่ จึงให้พักอยู่ภายนอก"
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "เธอจงเรียกพระทั้งหลายนี้เข้ามาเถิด ตถาคตอนุญาต"

ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปเข้ามาถวายบังคมองค์สมเด็จพระจอมไตรแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงทำปฏิสันถารกับเธอทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เสด็จประทับพระองค์เดียวตลอดไตรมาส ผู้ปฏิบัติถวายนํ้าสรงพระพักตร์ก็คงจะไม่มี พระองค์คงจะลำบากมาก พระพุทธเจ้าข้า"

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กิจทั้งปวงของเรา อันพญาช้างมีนามว่า ปาริไลยกะ ทำแล้ว อันบุคคลผู้ได้สหายเห็นปานนี้อยู่ด้วยกัน เป็นการสมควร เมื่อไม่ได้สหายเห็นปานนี้ ความเป็นอยู่ผู้เดียวประเสริฐกว่า"

ความจริงขึ้นชื่อว่าพระโพธิสัตว์เมื่อถึงโอกาสพบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตั้งใจไปโปรดช้างปาริไลยกะซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์มากกว่า เพราะว่าเมื่อท่านเห็นว่าพระเมืองโกสัมพีปฏิบัติไม่ดี พระองค์จะเสด็จไปกรุงราชคฤห์หรือกรุงสาวัตถีก็ไปได้ วิหารก็มีอยู่ พระก็มีมาก

เป็นอันว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสนี้มีประโยชน์มาก ท่านทั้งหลายควรจะยึดถือถ้อยคำของพระองค์ไว้ว่า "ถ้าเราได้เพื่อนที่ดีเราควรอยู่กับเพื่อน ถ้าเพื่อนเลวเราก็ไม่ควรอยู่ เพราะจะพาเราเลวไปด้วย เราอยู่สำหรับตนคนเดียวดีกว่า" เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสคาถานี้จบ ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปก็ได้สำเร็จอรหัตผล

หลังจากนั้นพระอานนท์ก็กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "เวลานี้มีพระอริยสาวกอีกประมาณ ๕ โกฏซึ่งมีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และพระนางวิสาขาเป็นหัวหน้า หวังในการเสด็จไปโปรดขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า"

พระพุทธเจ้าจึงได้มีพระพุทธดำรัสว่า "ถ้าอย่างนั้นเธอจงรับบาตรจีวร" พระอานนท์รับบาตรจีวรแล้ว พระพุทธเจ้าจึงเสด็จออกไป พญาช้างได้ไปยืนขวางทางไว้ บรรดาภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงได้ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช้างทำอะไรพระเจ้าข้า" จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช้างหวังจะถวายอาหารแก่เธอทั้งหลาย และช้างเชือกนี้แหละที่ให้อุปการะแก่เราตลอดราตรีนาน ๓ เดือน การทำให้ช้างนี้ขัดเคือง ไม่เป็นการสมควร ฉะนั้นขอพวกเธอทั้งหลายจงพากันกลับเถิด เพื่อเป็นการสนองความดีที่ช้างตั้งใจไว้แล้ว"

พระพุทธเจ้าก็ทรงพาภิกษุทั้งหลายเสด็จกลับ ฝ่ายช้างเข้าสู่ป่าแล้วรวบรวมผลไม้ มีผลขนุนและกล้วย เป็นต้น นำมาไว้เป็นกองๆ แล้ว
ในวันรุ่งขึ้นได้ถวายแก่พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ภิกษุ ๕๐๐ รูปฉันไม่หมดเพราะช้างนำมามาก เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าทรงถือบาตรจีวรเสด็จออกไป พญาช้างก็เดินตามไปคือ พระพุทธเจ้าเดินหน้า บรรดาพระเดินตามหลัง ช้างเดินคั่นกลางระหว่างพระพุทธเจ้ากับบรรดาพระ
ต่อมาช้างก็มายืนขวางหน้าพระพุทธเจ้าไว้ บรรดาภิกษุทั้งหลายเห็นจึงกราบทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช้างทำอะไรพระเจ้าข้า"
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ช้างนี้จะส่งพวกเธอไป แล้วก็ชวนให้เรากลับ"
องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงตรัสกับช้างว่า "ปาริไลยกะ การไปคราวนี้ของเรา เราไปไม่กลับเพราะว่าถ้าเราจะอยู่ ฌานก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคผลก็ดี ย่อมไม่มีแก่เจ้าด้วยอัตภาพนี้ เจ้าจงหยุดเถิด"

พญาช้างได้ฟังคำสั่งดังนั้นแล้ว ได้สอดงวงเข้าปาก ร้องไห้เดินไปข้างหลัง พญาช้างคิดว่าถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกลับมา เราจะปฏิบัติเช่นนี้แด่องค์พระพุทธเจ้าตลอดชีวิต ฝ่ายพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงแดนบ้านแล้วตรัสว่า "ปาริไลยกะ แต่นี้ไปมิใช่ที่ของเจ้า มันเป็นที่อยู่ของบรรดาหมู่มนุษย์ทั้งหลาย อันตรายที่จะเบียดเบียนเจ้ามีอยู่รอบข้าง เจ้าจงหยุดอยู่เถิด"

ช้างเมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสแล้วก็ยืนร้องไห้อยู่ตรงนั้นไม่กล้าตามไป ครั้นเมื่อสมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาเสด็จไปกับหมู่พระสงฆ์มองจนกระทั่งลับตาไปแล้ว ช้างก็มีหัวใจแตกตายและไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีวิมานสูง ๓๐ โยชน์และมีนางเทพอัปสรหนึ่งพัน เพราะมีความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ช้างตัวนั้นมีนามว่า "ปาลิไลยกเทพบุตร"

จากหนังสือ ตายแล้วไม่สูญ